Knowledge Worker หรือแรงงานความรู้คืออะไร

อะไรไม่ใช่แรงงานความรู้ ความแตกต่างระหว่างแรงงานทักษะระดับสูงกับแรงงานความรู้ พัฒนาการของแรงงานความรู้

Him Apisit
2 min readMay 20, 2023

Knowledge worker แปลเป็นภาษาไทยแบบตรงตัวว่า “แรงงานความรู้” เป็นศัพท์ที่มีนักวิชาการด้านการบริหารชาวอเมริกันได้เขียนถึงเมื่อราว 1950 ถึง 1960 ศัพท์นี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันมากนัก ทว่ามีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อยเนื่องจากอาจารย์ Drucker ผู้บรรญัติศัพท์ตัวนี้ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า แรงงานความรู้จะเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดในศตวรรษที่ 21 ในหนังสือหมุดหมายแห่งอนาคต(Landmark of Tomorrow) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2502 หรือค.ศ. 1959 ประมาณราว 60 ปีก่อนซึ่งในปัจจุบันน่าจะยังไม่มีการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยจากการค้นหาคร่าวๆ ออนไลน์ของผู้เขียน

Photo by Emil Widlund on Unsplash

อะไรไม่ใช่แรงงานความรู้?

ก่อนที่จะเจาะลึกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับแรงงานความรู้ เรามาลองดูคำอธิบายเกี่ยวกับแรงงานความรู้กันก่อน “แรงงานความรู้คือแรงงานที่ใช้ความรู้ทั้งในเชิงทฤษฎีและการคิดวิเคราะห์เพื่อจะสร้างสรรค์สินค้า และบริการ” นั่นย่อมหมายถึงการใช้ความรู้และความเข้าใจในการทำงานในแต่ละวัน ต่อยอด ปรับปรุง พัฒนา คิดวิเคราะห์ถึงเหตุผล และโอกาส ก่อนจะนำไปปฏิบัติจริงเพื่อสร้างผลลัพธ์ออกมา

“Drucker defined knowledge workers as high-level workers who apply theoretical and analytical knowledge, acquired through formal training, to develop products and services.” — Corporate Finance Institute

ในอีกด้านหนึ่งแรงงานที่ไม่ได้จัดอยู่ใน “แรงงานความรู้” กลับไม่ใช่ “แรงงานไร้ความรู้” หรือแรงงานที่ไม่ได้ใช้สมองแต่อย่างใด การทำงานอะไรแน่นอนว่าย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กก็ยังจำเป็นต้องดูว่ามีลูกค้ามากน้อยขนาดไหนเพื่อที่จะซื้อวัตถุดิบมาให้เพียงพอกับการขายอาหาร พนักงานขายได้ใช้ประสบการณ์ในการประเมินว่าลูกค้ามีแนวโน้มที่จะซื้อหรือไม่ซื้อมากน้อยเพียงใดและด้วยเหตุผลใด จึงสามารถที่จะขายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่างซ่อมรถยนต์ต้องมีความเข้าใจที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องจักร องค์ประกอบ และความเชื่อมโยงซึ่งทำให้เกิดภาวะการทำงานของเครื่องจักรหนึ่งๆ อาจเป็นการติดขัด หรือทำงานได้ไม่ราบรื่นเพื่อจะสามารถหาทางแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้ ช่างตัดผมต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับสรีระของศีรษะ ขนาดของเส้นผม ทิศทางการชี้ของเส้นผมของลูกค้าเพื่อประกอบการนำเสนอทรงผมและสีผมที่เหมาะสม พวกเขาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ใช้ความสามารถ แน่นอนว่าต้องใช้ความรู้และการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การการตัดสินใจที่แม่นยำ อย่างไรก็ตามในนิยามนี้อาจไม่ได้จัดพวกเขาไว้ในกลุ่มแรงงานความรู้ สำหรับตัวผู้เขียนเองมองว่าน่าจะจัดอยู่ในกลุ่ม “แรงงานมีฝีมือ/แรงงานทักษะระดับสูง (Skilled worker)” มากกว่า

อีกประเด็นนอกเหนือไปจากนั้น หลายคนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อทำงานไปก็เกิดประสบการณ์ พนักงาน แรงงาน หรือผู้ปฏิบัติงานคนนั้นย่อมเกิดความรู้ขึ้นมาได้เอง สิ่งนี้เป็นความจริง ระหว่างที่พวกเขาได้ประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ พวกเขาได้เรียนรู้ (Learning) และเกิดความเข้าใจใน “ข้อมูลเชิงลึก(insight)” อย่างไรก็ตามหากไม่ได้นำความรู้ความเข้าใจดังกล่าวมาสร้างเป็นสมมติฐาน ทำการวิเคราะห์เพื่อนำข้อมูลเชิงลึกเหล่านั้นไปใช้งานต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ก็จะไม่ตรงตามนิยามว่าแม้จะมีความรู้ความเข้าใจแล้วแต่ต้องนำไปปฏิบัติจริงเพื่อสร้างผลลัพธ์ออกมาด้วย

นอกเหนือไปจากตัวอย่างข้างต้น “แรงงานความรู้” ยังเป็นอีกนิยามหนึ่งซึ่งไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับ “พนักงานบริษัท (White-collar worker)” พนักงานบริษัทคือพนักงานทุกคนซึ่งมีสัญญาจ้างงานทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวรกับองค์กร หรือหน่วยงาน พวกเขาเหล่านี้อาจเป็นแรงงานความรู้ หรือแรงงานทักษะระดับสูงก็ได้ แรงงานที่เป็นฟรีแลนซ์ก็ไม่ได้จำกัดความว่าต้องเป็นแรงงานความรู้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสินค้า หรือบริการที่พวกเขาส่งมอบให้กับลูกค้า แรงงานความรู้อาจเป็นผู้ที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็ได้เช่นกัน ไม่ได้จำเป็นว่าต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ถึงอาจนับรวมอยู่ในกลุ่มแรงงานความรู้ได้

Photo by Jackson Films on Unsplash

ทำไมต้องใช้ความรู้?

ความรู้เป็นมากกว่าความจำ ความรู้เป็นมากกว่าการเลียนแบบ ความรู้เป็นมากกว่าการทำตามสิ่งที่คนอื่นทำ ความรู้เป็นรากฐานของความเข้าใจ ความรู้เป็นรากฐานของการคิดอย่างมีเหตุมีผล ความเข้าใจเป็นรากฐานของแนวคิดในการนำไปปฏิบัติ เมื่อมีความรู้ในเชิงทฤษฎี และสามารถคิดวิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุผลบนหลักเกณฑ์ของความรู้นั้น ก็จะสามารถเชื่อมโยงและนำไปสู่แนวทางในการลงมือปฏิบัติต่อไปได้

ในหลายกรณีในการทำงานการมีความรู้นอกเหนือไปจากการช่วยประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ยังอาจช่วยให้เป้าหมายบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความรู้ยังอาจเป็นรากฐานของวิธีคิดเช่น การเข้าใจว่าสารเคมีก่อให้เกิดก๊าซอันตรายซึ่งไม่สามารถสูดดมได้ทำให้เรารู้จักระวัง ป้องกัน หรือไม่เฉียดกรายเข้าไปใกล้กับสถานที่แห่งนั้น ในกรณีนี้การปราศจากความรู้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตสำหรับผู้ปฏิบัติงานจริง แน่นอนกรณีดังกล่าวค่อนข้างสุดโต่งในแง่ของการใช้งานความรู้ในชีวิตจริง

ขอยกตัวอย่างกรณีการขายของเพิ่มเติม การช่างสังเกตทำให้ทราบว่าลูกค้าประเภทไหนชอบซื้อสินค้าอะไร เหตุใดจึงชอบซื้อสินค้าเหล่านั้น ทั้งหมดนี้เกิดเป็นความเข้าใจ การมีความรู้สามารถทำให้เราเชื่อมโยงเห็นว่าสินค้าเหล่านี้อาจขายคู่กันอย่างไรให้ขายดี จัดวางอย่างไรในชั้นวางให้ขายได้ดี หรือควรนำเสนอสินค้าอะไรคู่กับอะไร และเสนอขายอย่างไร ในกรณีที่มีสินค้าจำนวนไม่มากนัก การทดลองจับคู่ขายแบบสุ่มนั้นสามารถทำได้และอาจให้ผลได้ดีเฉกเช่นเดียวกัน แต่เมื่อสินค้ามีจำนวนมหาศาลอย่างในร้านโชห่วยหนึ่งๆ ก็จะเกิดความซับซ้อนขึ้นว่าควรจะคิดอย่างไร วางแผนอย่างไร และวัดผลอย่างไร สินค้าประเภทใดควรจับคู่กับประเภทไหน และทำไมจึงต้องทำอย่างนั้น การจับคู่ในประเภทสินค้าที่ไม่เหมือนกันช่วยทำให้ยอดขายของกิจการเพิ่มขึ้นหรือไม่ สินค้าที่จับคู่กันทำอย่างไรที่จะยังรักษาระดับของกำไรได้ในขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มยอดขายไปพร้อมกัน

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงของตัวเองที่เคยทำงานกับชาวต่างชาติ ตอนนั้นผู้เขียนได้รับงานซึ่งใช้เวลาทำร่วมเดือนเมื่อทำการวิเคราะห์ออกมาเสร็จก็แทบไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ทำออกมานั้นมันถูกหรือผิด ในขณะที่ผู้เขียนไม่สามารถแยกแยะได้ ผู้จัดการของผู้เขียนก็ได้เข้ามาทำการพิสูจน์งานที่สลับซับซ้อนในเวลาประมาณ 5 นาทีด้วยความเข้าใจในเชิงทฤษฎีและสามารถวางแนวทางโดยคร่าวได้ว่าคำตอบที่ผู้เขียนหามาได้นั้นไม่ตรงกับผลลัพธ์ที่ควรได้จริง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าหนึ่ง การมีความรู้ช่วยประหยัดเวลาได้มหาศาล สอง การมีความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติจริง หรือสร้างประโยชน์ได้นั้นเป็นสิ่งจำเป็น สาม การปราศจากความรู้ของผู้เขียนที่จะนำมาตรวจสอบเนื้องานอาจส่งผลให้ทำงานผิดได้(และอาจทำไปโดยไม่รู้ตัวเพราะคิดว่างานที่ทำนั้นถูกแล้ว)

แรงงานความรู้คืออะไร?

ตัวอย่างอาชีพแรงงานความรู้

โปรแกรมเมอร์(Programmer), นักพัฒนาซอร์ฟแวร์(Software Developer), นักออกแบบเว็บไซต์(Web Designer), นักเขียนที่มีความรู้เฉพาะทาง(Technical Writer), นักวิจัย(Researcher), นักบัญชี​(Accountant), วิศวกร(Engineer), สถาปนิก(Architect), หมอ(Physician), นักวิทยาศาสตร์(Scientist), นักวิเคราะห์การเงิน(Financial Analyst), นักคิดเชิงออกแบบ(Design Thinker), นักเศรษฐศาสตร์(Economist), นักวางกลยุทธ(Strategist) ฯลฯ

ปล.เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดผู้เขียนจึงไม่สามารถใส่รายชื่อมาทุกอาชีพได้

ปล.1 ถึงแม้ว่าอาชีพข้างต้นจะมีหลายอาชีพเกี่ยวกับงานในเชิงคอมพิวเตอร์ หรือในสายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่มากแต่ทั้งนี้แรงงานความรู้ไม่จำเป็นต้องทำงานในลักษณะนี้ก็ได้

เนื้อหาต่อจากนี้เป็นความคิดของผู้เขียนซึ่งไม่ได้อ้างอิงมาจากอาจารย์ ​Drucker

Photo by Nik on Unsplash

พัฒนาการของแรงงานความรู้

การเรียนในมหาวิทยาลัยมีส่วนช่วยส่งเสริมในการพัฒนาให้เกิดแรงงานความรู้ได้ ทว่าหลายคน(โดยเฉพาะผู้เขียน)อาจมองไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ได้ศึกษากับการนำมาปฏิบัติจริงเนื่องด้วยรูปแบบของการศึกษาที่ผู้เขียนมองว่ามุ่งเน้นทฤษฎีและที่มาที่ไปมากกว่าความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เมื่อศึกษาจบผู้เขียนจึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตนเองว่าเราควรจะยังทำงานสายนี้ต่อไปหรือไม่ หรือเราควรที่จะขยับขยายไปทำงานสายอื่นแทน เราควรจะเดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง หรือควรศึกษาต่อในระดับปริญญาโทเพื่อให้มีความรู้และนำมาใช้ประโยชน์ได้

อาจารย์ที่ปรึกษาของผู้เขียนเคยแนะนำถึงแนวทางเอาไว้ว่า “อาจเริ่มจากการทำงาน ได้เห็นตัวอย่างจริง ทำความเข้าใจจากโจทย์จริง แล้วค่อยเชื่อมโยงกลับมาสู่ทฤษฎี” ผู้เขียนมองว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ชอบและสนใจได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเราได้มีโอกาสไปทำงานในสายงานที่ต้องใช้ความรู้ ทุกคนสามารถเริ่มต้นจากการเข้าใจเนื้องาน ความเชื่อมโยงของเนื้องานกับส่วนต่างๆ ประโยชน์ของการทำงานนี้ จากนั้นก็ค่อยถอยออกมาหนึ่งก้าวเพื่อมองภาพใหญ่ยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นตกอยู่ในสายงานใด รูปแบบใด จากนั้นค่อยเริ่มเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ของสายงานนั้นขึ้นไป

ภาพโดยผู้เขียน

ทุกคนอาจมองเห็นอย่างรวดเร็วว่าภาพด้านบนแสดงความเชื่อมโยงขั้นพื้นฐานของทฤษฎีและการปฏิบัติ จึงเกิดเป็นวงจรแห่งการเรียนรู้ที่ยึดโยงเนื้อหาสาระในเชิงวิชาการและการปฏิบัติเข้าไว้ด้วยกัน หลายคนอาจสงสัยว่าเพียงแค่เรารู้เชิงปฏิบัติก็พอแล้วหรือไม่ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านล่าง

ในปีพ.ศ. 2390 หรือปีค.ศ. 1847 มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวฮังกาเรียนท่านหนึ่งนามว่า อิกนาส ซามุลไวส์(Ignaz Semmelweis) ได้ทำการวิเคราะห์และตรวจสอบกระบวนการทำคลอดเปรียบเทียบระหว่างการทำคลอดของพยาบาล(Midwife) และหมอพบว่า อัตราการคลอดแล้วเสียชีวิตที่ทำคลอดโดยพยาบาลอยู่ที่ 36.2 ต่อคุณแม่ 1,000 คน ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของการทำคลอดโดยหมออยู่ที่ 98.4 ต่อคุณแม่ 1,000 คนซึ่งเยอะกว่าประมาณ 270% โดยโรคที่เกิดขึ้นเกิดจากการติดเชื้อของคุณแม่ที่คลอดลูกจนทำให้เสียชีวิต

ในปีเดียวกันนั้นเองเพื่อนร่วมงานของหมออิกนาสก็ได้เสียชีวิตลงทำให้หมออิกนาสได้ตั้งข้อสมมติฐานที่เกี่ยวกับสาเหตุของอัตราการเสียชีวิต เพื่อนของหมออิกนาสได้ทำการผ่าชันสูตรศพและบังเอิญทำมีดผ่าตัดบาดถูกนิ้วมือของตัวเองซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด หมออิสนาสสันนิษฐานว่า โดยปกติในหอผู้ป่วยที่ดูแลโดยแพทย์จะมีการชันสูตรพลิกศพและแพทย์ก็จะไปดูแลการคลอดต่อเลย นั่นทำให้เชื้อนั้นเข้าสู่ร่างกายของคุณแม่ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ดังนั้นคุณหมออิกนาสจึงประกาศนโยบายการล้างมือฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังการผ่าชันสูตรพลิกศพซึ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตในกระบวนการทำคลอดของแพทย์ลดลงใกล้เคียงกับการทำคลอดโดยพยาบาล

จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่าเพียงแค่มีประสบการณ์นั้นแน่นอนว่าไม่เพียงพอกับการนำไปใช้จริง องค์ความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นแต่ในขณะเดียวกัน องค์ความรู้ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการไปนั่งวิจัยและพัฒนาเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากการผิดพลาด ทดลองอย่างมีกระบวนการเพื่อนำมาสู่แนวทางการปฏิบัติและต่อยอดไปสู่ความเข้าใจอื่นได้ในที่สุด

เมื่อมีประสบการณ์จริงก็ทำการถอดบทเรียนออกมาเป็นโครงร่างหรือแนวทางของความรู้ที่สั่งสมเอาไว้โดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงที่เห็นผลจริงอย่างชัดเจน ความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นสามารถนำไปใช้สร้างประโยชน์ต่อได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากได้ทำการวิจัยและพัฒนา หรือศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อยอดจากความรู้ความเข้าใจที่ได้มา ย่อมทำให้ประสบการณ์ที่ผ่านไปกลายเป็นองค์ความรู้ที่ต่อยอดสร้างประโยชน์เพิ่มเติมได้ในที่สุด

--

--

Him Apisit

Data Scientist @ LMWN | Interested in Tech Startup, Data Analytics, Social Enterprise, Behavioral Economics, Strategy.