4 ข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างชีวิตทำงาน กับวัยเรียน

ว่าด้วยเรื่องของเวลา, ข้อดีของการสอบที่เราไม่เคยนึกถึง, คุณไม่ใช่เป็ด ผมไม่ใช่ไก่, ขบคิด

Him Apisit
3 min readDec 31, 2022

หลายคนอาจกล่าวว่าเมื่อเข้าสู่วัยทำงานชีวิตมันช่างแตกต่างกับวัยเรียนอย่างไม่อาจเทียบได้ เมื่อได้นึกย้อนทบทวนพวกเราอยู่ในระบบการศึกษานานมากจริงๆ ถ้าผมจำไม่ผิดสักสามขวบถึงสี่ขวบ พวกเราก็เริ่มเข้าสู่โรงเรียนอนุบาล หรือแม้แต่เตรียมอนุบาล จวบจนกระทั่งเรียนจบประถม มัธยม และมหาวิทยาลัยใช้เวลาร่วม 20 ปีในวัยเรียนและวัยรุ่น

บางคนเมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็ชอบชีวิตที่มีอิสระและมีขอบเขตจำกัดน้อยลง บางคนกลับไม่พอใจชีวิตแบบนี้เท่าไหร่นักเนื่องจากภาระหน้าที่การงานอันหนักหนาสาหัส บางคนพบว่าชีวิตที่ต้องมีความรับผิดชอบมันหนักอึ้ง แต่ละคนเมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็น่าจะรู้สึกแตกต่างกันไปไม่มากก็น้อย

ผมมีโอกาสได้ลองนั่งทบทวนกับตัวเองนิดนึงและลองค้นหาใน pantip มีทั้งคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบ ผมเลยว่าจะเขียนถึงความแตกต่างของมันสักเล็กน้อย ปล.ทั้งนี้เนื่องจากผมเองก็ยังไม่ได้โตเท่าไหร่ก็เขียนได้เท่าที่ผมพอจะเห็นได้

Photo by MChe Lee on Unsplash

ว่าด้วยเรื่องของเวลา

เวลาในการทำงานผ่านไปไวอย่างมากแตกต่างกับช่วงเวลาในการเรียนมาก หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้คือการสอบ การแบ่งช่วงเวลาชีวิตเป็นเทอม เป็นคลาส เป็นส่วนย่อยๆ เหมือนกับการแบ่งหนังเป็นภาค เหมือนกับการแบ่งหนังสือเป็นเล่ม เหมือนกับการแบ่งการ์ตูนเป็นตอน แต่ชีวิตจริงของเราไม่มีภาค ไม่มีเล่ม ไม่มีตอน มันต่อเนื่องเป็นสายยาวเดียวกัน มันจึงไม่มีช่วงรอยต่อที่ให้เราได้หยุดพัก

เวลาหลายปีกลับผ่านไปเพียงชั่วพริบตาเดียว เวลาทำงานอาจดูยาวนานในแต่ละวัน ทว่าวันแต่ละวันต่อกันกลับไม่นานอย่างที่คิด ผมรู้สึกว่าเวลาเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยแน่นอนเท่าไหร่นัก ในช่วงจังหวะที่เรามีความสุขมันกลับผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันช่วงเวลาที่โหดร้ายกลับคืบคลานไปอย่างเชื่องช้า ทั้งนี้ที่เวลาในการเรียนดูยาวนานส่วนหนึ่งก็เพราะมันนานจริง การเรียน 20 ปีหรืออาจมากกว่านั้นสำหรับหลายคนใช้เวลาองก์แรกของทุกคนไปจนหมด แต่เมื่อเทียบกับวัยทำงานมันอาจดูเร็วยิ่งกว่าวัยเรียนเสียอีก

จุดสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมมองเห็นคือถ้าเราเพียงปล่อยให้วันเวลาผ่านไป มันก็จะผ่านไปโดยไม่ได้เกิดสิ่งใดขึ้น เราก็เพียงแค่อยู่ไปตามแต่ละวัน นี่อดทำให้นึกถึงชื่อวิชา design thinking ในมหาวิทยาลัยไม่ได้ ถึงแม้ผมจะไม่ได้ลงเรียนวิชานี้แต่ก็ชมชอบชื่อวิชานี้อยู่ไม่น้อย “Designing you life”

เมื่อคุณเริ่มออกแบบ คุณเปลี่ยนจากการเล่นเกมตั้งรับเป็นเกมรุก ชีวิตของเราเอง เราเลือกเส้นทางเดินด้วยตัวเอง เมื่อเริ่มมีความตั้งใจก็สร้างเป้าหมายได้ เมื่อเริ่มมีเป้าหมายก็มีหนทาง เมื่อมีหนทางก็จะมีการเดินทาง แต่ถ้าใครรู้สึกว่ามันเคร่งเครียดเกินไปการอยู่แบบสบายๆ ก็ไม่ได้ผิดอะไรเช่นกัน ผมเพียงคิดว่าถ้ามีอะไรให้ทำก็คงสนุกดี

จุดแตกต่างอีกอย่างของวัยทำงานคือมันไม่มีจุดอ้างอิงในความทรงจำที่ชัดเจน ในวัยเรียนนั้น เราสามารถนึกย้อนเวลากลับไปเป็นส่วนๆ เช่น ส่วนมหาวิทยาลัย ส่วนมัธยมปลาย ส่วนมัธยมต้น ส่วนยุคมืดของเราเอง ส่วนตอนที่เรายังเด็ก เพียงแต่เหตุการณ์สำคัญในช่วงที่เราโตขึ้นมาแล้วกลับเป็นภาพที่ไม่ค่อยชัดเจน จุดที่เราจำได้อาจเป็นแค่ความรู้สึกซ้ำเดิมของการทำงานไปในแต่ละวัน เหตุการณ์ใหญ่ในชีวิต การซื้อของชิ้นใหญ่ๆ เนื่องจากมันจดจำได้ยาก จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะเผลอลืมไป

Tip: ลองแบ่งชีวิตหรือตารางเวลาของเราเป็นส่วนๆ ดู อาจจะทำให้สนุกกับแต่ละช่วงได้มากขึ้น

ข้อดีของการสอบที่เราไม่เคยนึกถึง

พูดถึงการสอบทีไรทุกคนอาจนึกถึงสภาพที่เลวร้าย ความเครียด และความกังวลใจ การสอบมีข้อดีอย่างมากที่ผมเคยสังเกตเห็นจากมุมมองของเพื่อนคนหนึ่ง การสอบทำให้เราต้องอ่านหนังสือ บีบบังคับให้เราต้องเรียนรู้สิ่งนั้นไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม การพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ยังไม่เข้าใจสำหรับคนที่ชื่นชอบวิชานั้นย่อมมีความสุขแทรกเข้ามาบ้างตอนที่ได้เรียนรู้อะไรเจ๋งๆ แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบวิชานั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารู้สึกแย่แค่ไหน

ผมเห็นไม่รู้กี่ครั้งเมื่อทุกคนต้องสอบ เรามักจะรู้สึกอยากทำอย่างอื่น อยากทำความสะอาดบ้าน อยากจัดห้อง อยากล้างห้องน้ำ อยากเรียนอะไรใหม่ๆ อะไรอะไรก็ดูน่าทำไปมากกว่าการอ่านหนังสือ ทำโจทย์ ท่องจำ ทบทวน ผมพบว่ามีสองสิ่งที่เราเจอตรงนี้ อย่างแรกคือสิ่งที่เราคิดถึงเมื่อเราอยากหนีไปจากสถานการณ์นั้น สิ่งที่ปรากฎขึ้นมาเป็นอะไรที่เราสนใจหรือเราอยากทำ รายชื่อกิจกรรมที่เราอยากทำนี้เราสามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ได้

img reference: luxafor.com

หลายอย่างเป็นสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ เป็นเรื่องที่ค้างคาในใจเราแต่เราไม่เคยให้ความสนใจกับมันเลยมันเลย ลองดูตัวอย่างภาพประกอบด้านบนครับ วิธีการแปลผลก็คือเราพิจารณาดูว่ารายการสิ่งที่เราอยากทำเป็นสิ่งที่สำคัญมั้ย?(แกนแนวตั้ง) แล้วก็เป็นสิ่งที่เร่งด่วนมั้ย?(แกนแนวนอน)

ผมมีไอเดียว่าสิ่งที่มักจะโผล่ขึ้นมาในช่วงที่เราใกล้จะสอบมักจะเป็นสิ่งที่ไม่ด่วน(แกนตั้งทางขวาสุด) การที่มันไม่ด่วนทำให้เราไม่เคยได้ให้เวลาได้ลองคิดว่าเราอยากทำจริงหรือเปล่า มันมีแรงต้านเช่นความขี้เกียจและกิจกรรมอื่นๆ อยู่ หลายสิ่งเป็นเรื่องที่เราอยากทำจริงและสำคัญด้วย เราก็ควรจะทำเป็นนั้น ผมรู้สึกว่าเราจะเห็นคุณค่าของเวลาเมื่อเราแทบไม่เหลือเวลา การสอบเป็นส่วนหนึ่งของการได้เผชิญหน้ากับความรู้สึกแบบนั้น

ข้อดีที่สองคือการมีเวลาจำกัดแล้วต้องทำอะไรสักอย่าง(deadline) ดังคำกล่าวที่ว่า “ตอนใกล้สอบพลังของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 500%” มันเป็นเรื่องจริงครับ อันนี้ผมอ้างอิงมาจากวิทยากรท่านหนึ่งที่ทำหุ่นยนต์ดินสอ ท่านได้อธิบายเอาไว้ว่า “คนไทยมีศักยภาพอย่างมหาศาลที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ เพียงแต่หากสามารถตั้งเป้าหมายด้วยตัวเอง และวางเส้นตายให้กับตัวเองได้ ก็จะทำสิ่งที่ต้องการให้สำเร็จได้ด้วยดี”

ชีวิตจริงมันไม่มีเส้นตายที่ชี้ชัดมันมีแค่ตัวเราเอง เป้าหมายหลายอย่างที่เราตั้งใจเอาไว้ถ้าไม่ได้บอกออกไปก็มีแค่เราคนเดียวในโลกที่รับรู้ มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเอาใจใส่ความตั้งใจของตัวเราเอง แล้วพาเอาตัวเราเองไปทำสิ่งที่ทำแล้วเราจะรู้สึกดีกับตัวเอง เราจะภาคภูมิใจเมื่อทำเสร็จ เรื่องที่เห็นชัดเช่น การพาตัวเองไปออกกำลังกาย การพาพ่อแม่ไปเที่ยวต่างประเทศ การเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท การเข้าเรียนปริญญาโทในสาขาที่สนใจ การมีครอบครัว การซื้อบ้าน/รถ ฯลฯ

Tip: ตอนเริ่มต้นอย่าเริ่มจากเรื่องยาก กำลังใจต้องค่อยๆ สร้างเหมือนกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างในวันเดียว

“ตอนใกล้สอบพลังของเราจะเพิ่มขึ้นเป็น 500%” — เพื่อนผมสักคนได้กล่าวเอาไว้

คุณไม่ใช่เป็ด ผมไม่ใช่ไก่

Photo by Elena G on Unsplash

เป็ดเป็นสัตว์ที่มักถูกใช้เปรียบเทียบกับคนที่ทำได้หลายอย่างแต่ไม่ได้เรื่องสักอย่าง ในความเป็นจริงหากมองว่าเป็นเป็ดทุกคนก็คงเป็นเป็ด หรือไม่ก็ไม่มีใครเป็นเป็ดได้เลย ลองดูภาพวาดด้านล่าง คุณเป็นจุดสีแซลมอนถ้าคุณเปรียบเทียบกับจุดสีเทาในทักษะที่หนึ่งก็เรียกได้ว่าอยู่ตรงกลาง มีจุดสีเทาที่อยู่สูงกว่าคุณ มีจุดสีเทากระจุกใหญ่ที่ต่ำกว่าคุณ หากเปรียบเทียบทักษะที่สองคุณก็ไม่ได้เป็นเลิศ อย่างไรก็ตามเมื่อมองจากสองจุดนี้รวมร่างกันจะพบว่าที่ที่คุณอยู่นั้นเป็นส่วนผสมของสิ่งที่ไม่เหมือนใคร

my drawing :)

วันก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนสนิทสมัยมัธยมคนหนึ่ง ผมบอกเพื่อนว่าสิ่งนี้เรียกว่า “skill stacking” ซึ่งเป็นคำที่อ.ธงชัย โรจน์กังสดาลได้เขียนถึงในบทความรวม 20 ภาพวาดไอเดียของผมปี 2022 ในหัวข้อที่ 11(บทความอยู่ด้านล่าง) และผมก็ได้ไปลองอ่านอีกบทความที่อยู่ด้านล่างว่าด้วยเรื่องของการหาจุดสมดุลที่ไม่เหมือนใคร(unique value) เพื่อนผมบอกว่าเราอาจเรียกสิ่งนั้นว่าการบูรณาการองค์ความรู้ คำสำคัญจึงไม่ใช่ชื่อเรียกแต่เป็นความเข้าใจว่าจุดที่ควร focus อยู่ที่ไหน

เมื่อพูดถึงการเปรียบเทียบผมก็อดไม่ได้ที่จะมองเห็นตัวเองและคนรอบข้างเปรียบเทียบในเรื่องสิ่งของหรือประสบการณ์ที่มองเห็นได้ชัดเจน เช่น เงินเดือน มหาวิทยาลัย ที่เรียน ระดับการศึกษา ฐานะ ชื่อเสียง จำนวนทรัพย์สินที่มีในครอบครอง หรือแม้แต่จำนวน subscriber/follower นี่เป็นจุดนึงที่แตกต่างกับการเรียนอย่างเห็นได้ชัด การเปรียบเทียบแบบนี้ไม่เหมือนกับการเปรียบเทียบผลคะแนนสอบด้วยเหตุผลสำคัญสามประการ

หนึ่ง การเปรียบเทียบคะแนนสอบอยู่บนขอบเขตของการวัดผลสิ่งเดียวกันใน ช่วงเวลาเดียวกัน และมีระยะเวลาเท่ากัน ในชีวิตจริงแต่ละคนมีพื้นฐาน ความเชื่อ รูปแบบสังคม วิถีชีวิต ความพึงพอใจไม่เท่ากัน บางคนอาจทุ่มเทเวลาทั้งหมดของตัวเองเพื่อสิ่งหนึ่งซึ่งนั่นทำให้เขาทำสิ่งนั้นได้ดีกว่าเรา บางคนอาจทำเรื่องนี้มานานนับ 10 ปี นั่นจึงทำให้การเปรียบเทียบกันตรงๆ ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล

สอง การเปรียบเทียบคะแนนสอบหลายวิชาไม่เหมือนกับการเอาปัจจัยต่างๆ มาวัด เพราะการเรียนทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือเกรด A แต่ในชีวิตจริงมันไม่มีเกรด A ค่านิยมในสังคม หรือแม้แต่กลุ่มสังคมย่อยๆ อาจไม่สามารถวัดผลได้อย่างสมบูรณ์ และมีหลายอย่างที่วัดไม่ได้ด้วยตัวเลข เช่น ความสุข ความพึงพอใจ

สาม การเปรียบเทียบอาจไม่ได้นำไปสู่อะไร มันเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากถ้าย้อนกลับไปพิจารณาภาพวาดของผมด้านบนเมื่อพิจารณาทักษะทั้งหลาย การปรับเปลี่ยนทำให้จุดสมดุลของคุณเปลี่ยนไป คุณอาจค้านว่าแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ยิ่งมีมากก็ยิ่งทำให้มีความสุขมากขึ้นรึเปล่า ผมขอแสดงหลักฐานด้วยบทความนี้แทนครับ(ปล.ผมไม่เคยอ่านบทความนี้แต่ผมจำได้ว่ามีงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเงินเดือนและความสุขของคนอเมริกัน) แน่นอนสำหรับคุณอาจใช่ สำหรับบางคนอาจไม่ มันบอกยากจริงๆ

ผมเชื่อว่าการเปรียบเทียบโดยพื้นฐานไม่ใช่ว่าไม่ดีเพียงแต่เราต้องรู้ว่าเปรียบเทียบเรื่องอะไร และเปรียบเทียบไปทำไม ถ้าทำแล้วเรามีแรงจูงใจให้พยายามยิ่งขึ้นก็เอาเลย เพราะคนแต่ละคนมีวิธีในการเพิ่มแรงจูงใจแตกต่างกัน

Tip1: อย่าให้อิทธิพลจากสื่อ social media ต่างๆ ทำให้คุณไขว้เขว จงมองไปยังเป้าหมายของตัวเองและเดินไปอย่างช้าๆ

Tip2: เมื่ออดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบให้เปรียบเทียบแค่เรื่องที่คุณจะชนะ(เรื่องที่คุณสนใจ เรื่องที่คุณให้ความสำคัญ หรือทักษะอันยอดเยี่ยมของคุณ) อย่ามองแต่ข้อเสีย หรือเอาแต่ข้อด้อยไปเปรียบเทียบ

ขบคิด

ในเวลาเรียนหลายครั้งเพียงจดจำให้ได้เข้าใจรูปแบบของโจทย์ ข้อสอบ กระบวนการ แนวคิด หรือแม้แต่แนวทางของคำตอบก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สอบได้ โจทย์ปัญหาหลายข้อถึงแม้จะยุ่งยากซับซ้อนแต่ก็ยังอยู่ภายในขอบเขตของวิชาที่เราได้เรียน อย่างไรก็ตามชีวิตจริงเป็นโจทย์ปลายเปิด(ซึ่งโคตรยากเลย)

โจทย์ปลายเปิดมักเป็นแบบนี้ก็คือมีแค่โจทย์และไม่มีตัวเลือก เราไม่สามารถตัดตัวเลือกที่ดูไม่เข้าท่าออกไปได้ก่อนเพื่อจะคัดตัวเลือกที่เหลือที่เข้าที โจทย์ปลายเปิดหลายครั้งไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แถมยังขอแอบดูคำตอบจากคนอื่นไม่ได้อีกด้วย เพราะคำถามชุดเดียวกันสำหรับหลายคนอาจมีหลายคำตอบ เช่น จะลงทุนอะไรดี? จะซื้อ…ยี่ห้ออะไรดี? จะเรียนต่ออะไรดี? จะทำ…เมื่อไหร่ดี? ฯลฯ

ข้อดีอย่างหนึ่งของการไม่มีคำตอบที่ชัดเจนก็คือคำตอบมันอาจเป็นอะไรก็ได้ มันบอกได้ยากที่จะบอกว่าใครเลือกถูก หรือเลือกผิด เร็วไป หรือช้าเกินไป มากไปหรือน้อยเกินไป มันจึงย้อนกลับมาสู่ตัวเราเองว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เหมาะสมกับตัวเรา จังหวะชีวิตของเรารึเปล่า คำถามนี้อาจดูไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยเพราะมันไม่มีแนวทางแต่ผมคิดว่ามันน่าจะให้ภาพที่ตรงที่สุดได้

เวลาเรียนวิชาที่ยากเหลือหลาย เราทุกคนอาจมีกลุ่มติวของตัวเอง หรือมีเพื่อนที่ยอมอธิบาย ยอมสอน ชีวิตจริงหลายอย่างมีคอร์สให้เรียน มี youtube คลิปที่สอน มีหนังสือให้อ่านสืบค้น ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มต้นที่ตัวเราและจบลงที่ตัวเรา เราไม่สามารถอ้างอิงจากคนอื่นได้มากนัก ยิ่งเราศึกษาสิ่งหนึ่งให้มากขึ้นเท่าไหร่ คนที่จะรู้ได้มากก็ยิ่งลดลง

สองเรื่องที่พูดมานั้นอาจดูไม่เกี่ยวข้องแต่กระบวนการในท้ายที่สุดคือการขบคิด คำว่าขบเป็นอาการของการกัดของแข็งที่เคี้ยวไม่ได้หรือเคี้ยวได้ยาก คิดเป็นกระบวนการใช้สมอง เมื่อเปรียบเทียบจากคำแปลของเว็บราชบัณฑิตยสถานก็คือการคิดซ้ำไปมา สิ่งนี้คือการใคร่ครวญ คิดซ้ำๆ โดยไม่ได้ใช้ความกดดันตัวเองแต่เป็นการทำซ้ำจนได้คำตอบ

ราชบัณฑิตยสถาน “ขบคิด”

การขบคิดทำให้ได้ตั้งคำถาม คำถามที่ดีนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ หรือค้นหาข้อมูลต่อไป ถ้าอ้างอิงกับสายผู้ประกอบการให้เห็นภาพชัดมันก็เหมือนกับการสร้างธุรกิจ startup ที่ต้องคิด ไตร่ตรอง ทดสอบไอเดีย และลงมือปฏิบัติจริง เมื่อได้ผลลัพธ์จึงนำมาคิดซ้ำอีก เมื่อทำซ้ำได้หลายครั้งหลายหนก็สามารถเห็นแนวทางของคำตอบที่ชัดเจนขึ้น

อีกตัวอย่างที่อาจใกล้ตัวมากขึ้นคือเรื่องของตัวเราเอง อาจเป็นจุดแข็ง จุดอ่อน ความถนัด ความชื่นชอบ เมื่อเราได้ลองเขียนออกมาแล้วเวลาได้ผ่านไปเรากลับมาไตร่ตรองอีกครั้ง นั่งคิดนอนคิดทบทวนดูอีกทีจึงได้เห็นชัดว่าที่เราเข้าใจเกี่ยวกับตัวเรานั้นเหมือนกับความเป็นจริงหรือไม่ ผมนำไอเดียนี้มาจาก Feedback Analysis ของปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ ซึ่งเป็นปรมาจารย์ชั้นครูสอนเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ วิธีดังกล่าวผมได้ทดลองทำกับตัวเองมาแล้วหนึ่งครั้ง พบว่าให้ผลดีก็เลยอยากลองแนะนำเผื่อมีใครอยากทำบ้าง

Tip1: ลองเอาโจทย์ที่สนใจเรื่องอะไรก็ได้มาตั้งธงไว้แล้วคิดกับมันซ้ำๆ ลองเขียนออกมาดู

Tip2: ทำ feedback analysis โดยตั้งคำถามพื้นฐาน เช่น จุดแข็ง จุดอ่อน เนื้องานที่ชอบทำ เนื้องานที่ไม่ชอบทำ ชอบทำงานเป็นกลุ่มหรือคนเดียว เป็นต้น เขียนออกมาใส่กระดาษแล้วไปใช้ชีวิต เมื่อเวลาผ่านไปสัก 3–9 เดือนก็กลับมาดูกระดาษนี้อีกรอบแล้วเขียนใหม่

--

--

Him Apisit

Data Scientist @ LMWN | Interested in Tech Startup, Data Analytics, Social Enterprise, Behavioral Economics, Strategy.